บีโอไอสุราษฎร์ฯ นำคณะผู้ประกอบการ จำนวน 25 คน เข้าร่วมกิจกรรม “เปิดวิสัยทัศน์สร้างโอกาส กระตุ้นการลงทุนสู่ภาคใต้ตอนล่าง” ณ จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดสงขลา จังหวัดยะลา และจังหวัดพัทลุง

03 กรกฎาคม 2567
      วันที่ 26 - 28 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา นางระเบียบ โสขะรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 6 (สุราษฎร์ธานี) พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ ร่วมจัดกิจกรรมชักจูงการลงทุนในประเทศ “โครงการเปิดวิสัยทัศน์สร้างโอกาสกระตุ้นการลงทุนสู่ภาคใต้ตอนล่าง” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยี และนวัตกรรมการผลิตให้แก่ผู้ประกอบการนำมาปรับใช้ในกิจการที่ดำเนินการอยู่ให้ดีขึ้น ส่งผลให้การลงทุนมีศักยภาพ รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการผลิต และเพิ่มวิสัยทัศน์ของผู้ประกอบการในการแสวงหาโอกาสในการลงทุน/ตลาดตลอดจนเปิดโอกาสให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในการลงทุน ที่เกี่ยวข้องระหว่างภูมิภาค นำไปสู่การเชื่อมโยงการค้าการลงทุนเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้
     กิจกรรมในครั้งนี้ ได้นำคณะผู้ประกอบการ จำนวน 25 คน เข้าเยี่ยมชมและรับฟังบรรยายสรุป ดังนี้
วันที่ 26 มิถุนายน 2567
    - กิจการผลิตไฟฟ้า ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ที่สุดในภาคใต้ ขนาดกำลังผลิต 970 เมกะวัตต์ โดยใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก ของบริษัท ผลิตไฟฟ้าขนอม จำกัด จังหวัดนครศรีธรรมราช
    - กิจการผลิตกระเบื้องดินเผาโดยภูมิปัญญาชาวบ้านเกาะยอ มีคุณสมบัติพิเศษเนื่องจากผลิตจาก ดินเหนียวน้ำเค็ม ทำให้ผลิตภัณฑ์เหนียวและทนทานกว่าดินเหนียวน้ำจืด ของโรงกระเบื้องดินเผา "ลุงอ้อม" จังหวัดสงขลา
วันที่ 27 มิถุนายน 2567
    - กิจการผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงแบบพรีเมี่ยม ซึ่งเป็นระบบการจัดการด้านความปลอดภัยอาหาร BRCGS Global Standard for Food Safety ของบริษัท ไอ-เทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จังหวัดสงขลา
    - ศึกษาศักยภาพการค้าชายแดนไทย – มาเลเชีย และการดำเนินงานของด่านศุลกากรเบตง  จังหวัดยะลา
วันที่ 28 มิถุนายน 2567
    - จุดชมวิวทะเลหมอกในรูปแบบสกายวอล์คที่ยาวที่สุดในอาเซียน  “สกายวอล์คอัยเยอร์เวง”  จังหวัดยะลา
    - กิจการผลิตยาสมุนไพรแบบโบราณตามตำรับแผนโบราณที่ได้รับมาตรฐาน PIC/s GMP(มาตรฐานเดียวกับที่ใช้ผลิตยาแผนปัจจุบัน) ของบริษัท บวรเวชสมุนไพร จำกัด จังหวัดพัทลุง
     กิจกรรมดังกล่าวมุ่งเน้นการพัฒนาผู้ประกอบการให้มีการตื่นตัวในการลงทุนในพื้นที่ภาคใต้ ตลอดจนแลกเปลี่ยนความรู้ด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ นำมาประยุกต์ให้สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ซึ่งจะเป็นการช่วยเพิ่มศักยภาพการลงทุน และเป็นรากฐานของระบบเศรษฐกิจที่เข้มแข็งในอนาคตต่อไป